ตามคัมภีร์ลัทธิศาสนาพราหมณ์เชื่อกันว่ามีพระเป็นเจ้า 3 องค์ ซึ่งทรงมีคุณธรรม บารมี และ ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ กัน ซึ่งพระเป็นเจ้าทั้ง 3 องค์นี้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง เรียกรวมกันว่า "ตรีมูรติ" อันได้แก่ พระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม โดยเฉพาะพระพรหมนี้เชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งทั้งปวงให้เกิดขึ้นในโลก พระองค์เป็น "สยัมภู" คือผู้เกิดได้เอง มีน้ำพระทัยเยือกเย็น เป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุด เปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นมโนธรรมจริยา 4 ประการ ซึ่งตรงกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ได้ยึดถือสั่งสอนพุทธบริษัทข้อหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า พรหมวิหาร 4 นอกจากจะสร้างโลกแล้ว พระพรหมยังเป็นผู้สร้างสวรรค์และมนุษย์อีกด้วย
      กำเนิดของพระพรหมนั้นค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่สับสนอยู่บ้างเพราะจากตำนานหลาย ๆ เล่ม ก็มีเรื่องเล่า แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าพระพรหมถือกำเนิดในไข่ทอง บ้างก็ว่าพระพรหมถือกำเนิดในดอกบัวอันผุด ขึ้นจากพระนาภีของพระนารายณ์บรรทมหลับอยู่บนหลังอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร และบ้างก็ว่าพระพรหม กำเนิดมาจากการแบ่งภาคของพระพิษณุ เมื่อคราวที่พระพิษณุจะทรงสร้างโลก แต่เมื่อได้ตรวจสอบเรื่องราวเกี่ยว กำเนิดต่าง ๆ แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่าตำนานของมัสนปุรณะน่าจะเป็นเรื่องเป็นราวที่ไม่สู้จะวกวนเท่าใดนัก ง่ายแก่การจดจำ ตำนานนั้นเล่าว่าพระพรหมหรือที่เรียกกันว่า "อาปวะ" ได้แบ่งพระองค์เองออกเป็น 2 ภาค หลังจากที่ทรงเกิดแล้วภาคหนึ่งเป็นชาย คือพระองค์เอง และอีกภาคหนึ่งเป็นหญิงมีนามว่า ศตรูปา หรือสรัสวดี แล้วต่อมาจึงช่วยกันสร้างเทวดา มนุษย์ สัตว์ อสูร และสรรพพืชพันธุ์ในโลกต่อไป หากเป็นเรื่องอย่างนี้ ก็จะไปสอดคล้องกับการกำเนิดมนุษยชาติของศาสนาคริสต์ ซึ่งมีอาดัมกับอีฟเป็นผู้สร้างมนุษย์
      พระพรหมมีวรกายเป็นสีแดง มีสี่เศียรหรือสี่หน้า แต่ในหนังสือของฮินดูเล่มหนึ่งกล่าวว่าพระพรหมมีห้าหน้า ภายหลังปรากฏว่าพระพรหมได้ทำให้พระศิวะโกรธในฐานกล่าววาจาสบประมาท พระศิวะจึงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ใช้ดวงพระเนตรดวงที่สาม (พระศิวะ มี 3 ตา หากดวงตาที่สามลืมขึ้นเมื่อไร มักจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเสมอ)เพ่งไปที่เศียรที่หนึ่งของพระพรหมทำให้บังเกิดเพลิงไหม้เศียรนั้นเป็นจุนไป ฉะนั้นเศียรของพระพรหม จึงเหลือสี่เศียรหรือสี่หน้าเท่านั้น พระพรหมมี 4 กร (บางแห่งว่า 8 กร)ถือธารพระกรไม้เท้า 1 ช้อน 1 หม้อ 1 คัมภีร์ 1 มีประคำคล้องพระศอ มีธนูชื่อปรวีตะ มีหงส์เป็นพาหนะ (ในนิกายลามะว่า ม้าขาว) ที่สิงสถิตของพระพรหมเรียกว่า พรหมพฤนทา อยู่ในพรหมโลก ที่อยู่ของพระพรหมนี้ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวไว้ว่าสูงกว่าสวรรค์ขึ้นไป และแบ่งพรหมไว้หลายประเภท คือ รูปพรหม อรูปพรหม พรหมที่เรียกว่ารูปพรหมนั้นมีถึง 16 ชั้น คือ พรหมปาริชชาภูมิ พรหมปโรหิตาภูมิ มหาพรหมาภูมิ ปริตตาภูมิอัปปมานาภูมิ อาภัสสรภูมิ ปาริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ สุภกิณหาภูมิ เวหัปผลาภูมิ อสัญญีภูมิ อวิหาภูมิ อตัปหาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฎฐาภูมิ และพรหมทั้ง 16 ชั้นนี้มีแต่บุรุษไม่มีสตรีเพศ องค์พระพรหมจะประทับนิ่งไม่ไหวติงโดยตลอด

      พรหมที่เป็นอรูปพรหมนั้นอยู่สูงขึ้นไปอีก เป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิต มีทั้งหมด 4 ข้อ อากาสายัญจายตน วิญญาณัญจายตน อากิญจัญญายต และ เนวสัญญานายน ผู้ที่จะไปบังเกิดเป็นพรหมได้จะต้องบำเพ็ญตบะฌาณ เบื้องต้นตั้งแต่ปฐมฌาณ จนถึงปัญจมาฌาน ใครจะได้ไปอยู่ในพรหมโลกชั้นใดก็แล้ว แต่ภูมิฌาณที่ตนได้บำเหน็จ ในกิจนั้น ๆ
      พระมเหสีของพระพรหมคือพระสรัสวดี ผู้ซึ่งพระพรหมทรงสร้างขึ้นเอง อัธยาศัยของพระพรหมนั้น กล่าวได้ว่า อัธยาศัยดี ใจเย็น ไม่ขัดคอใคร ใครขอพรเป็นต้องได้ พระองค์เปี่ยมไปด้วยพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาแผ่ไปในสัตว์ทั่วทุกสารทิศและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้นคงจะจำกัดได้ว่าเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงพระพรหมตอนที่มาทูลอาราธนาให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปทรงโปรดเวไนยสัตว์ และเมื่อครั้งที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วกลับลงมา ก็มีพระอินทร์และพรพรหม ตามมาส่งเสด็จด้วย พระสรัสวดีพระมเหสี พวกพราหมณ์ทั้งหลายถือว่าเป็นเจ้าของปัญญาและวิชาการทั้งหลาย เป็นมารดาแห่งพระเวท และเป็นผู้คิดหนังสือเทวนครี รูปของพระสรัสวดีเป็นหญิงสาวสวย มีกายสีขาวนวล มี 4 กร หัตถ์เบื้องขวาถือดอกไม้บูชาพระพรหม อีกหัตถ์หนึ่งถือคัมภีร์ใบลาน หัตถ์เบื้องซ้ายมีสายสร้อยไข่มุกเรียกว่า ศิวมาลาถือกลอง และอีกหัตถ์หนึ่งถือพิณ มักประทับอยู่บนแทนดอกบัวหรือประทับอยู่บนหลังนกยูง แต่บางทีก็ใช้หงส์เป็นพาหนะ
      พระพรหมกับพระสรัสวดีได้ทรงช่วยกันสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายให้เกิดขึ้นในโลกและพระสรัสวดีทรงเป็นผู้ริเริ่ม คิดสร้างอักษรเทวนาครี และภาษาสันสกฤตขึ้นในโลก ทั้งยังพอพระทัยอุปถัมภ์อักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีกด้วย



CCopyright © 2002 by Than Tao Mahaprom Foundation Erawan Hotel, All right reserved